จากบทบัญญัติในกฎกระทรวงเรื่องเกี่ยวกับประเภทและคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบอาคาร พอสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้
ผู้ตรวจสอบอาคาร แบ่งตามลักษณะการขึ้นทะเบียนได้ 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล (บุคคลธรรมดา เลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย บ. แล้วตามด้วยตัวเลขลำดับที่ขึ้นทะเบียนทับปี พ.ศ.ที่ขอขึ้นทะเบียน ส่วนนิติบุคคลนั้นจะขึ้นต้นด้วย น. แล้วตามด้วยตัวเลขและรายละเอียดอื่นเช่นกัน)
เจ้าของอาคาร ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากบางครั้งมีวัตถุประสงค์ต้องการจ้างผู้ตรวจสอบแบบนิติบุคคลให้ตรวจสอบอาคาร แต่เมื่อรับเล่มรายงานผู้ที่ลงนามรับรองกลับเป็นผู้ตรวจสอบประเภทบุคคลธรรมดา ก็มีให้พบเห็นกันมากในระยะหลัง
.jpg)
ใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ประเภทนิติบุคคล จาก กรมโยธาธิการฯ ที่จะระบุชื่อนิติบุคคลนั้นๆ ลงในใบอนุญาตด้วย
ส่วนคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบพออธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ คือ ต้องเป็นวิศวกรหรือสถาปนิก ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะเป็น ระดับ สาขา หรือแขนงใดก็ได้ จากนั้นก็ต้องสมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบอาคารจากสถาบันที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง ขั้นต่อไปก็มาสอบวัดความรู้ที่สภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก โดยสอบทั้งสิ้น 3 หมวดวิชา คือ
1)วิชาจรรยาบรรณและกฏหมาย
2)วิชาหลักการและแนวทางการตรวจสอบอาคาร
3)วิชาแนวทางการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์อาคาร
ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีผู้สอบผ่านรวดเดียวพร้อมกันทั้ง 3 วิชา จะสอบตกหรือไม่ก็ผ่านกันเพียงคนละ 1 วิชา หรือ 2 วิชาบ้าง โดยกฏหมายให้ระยะเวลาการสอบสะสมได้ถึง 2 ปี นับจากวันที่จบการอบรม หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวยังสอบผ่านไม่ครบทั้ง 3 หมวดวิชา บุคคลผู้นั้นก็ต้องเริ่มเข้ารับการอบรมและเริ่มกระบวนการสอบใหม่ เมื่อสอบผ่านครบทั้ง 3 หมวดวิชา จึงมีสิทธิไปยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ กับ คณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง ต่อไป
ซึ่งจากบทบัญญัติใน มาตรา 55 ทวิ* ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดทำการตรวจสอบตามมาตรา 32 ทวิ เว้นแต่ผู้นั้นเป็นผู้ตรวจสอบตามพระราชบัญญัตินี้"
ดังนั้นหากท่านได้ว่าจ้างผู้ตรวจสอบรายใดเข้าตรวจอาคารของท่าน เพื่อความมั่นใจว่าเป็นผู้ตรวจสอบอาคารจริงมิใช่ผู้ตรวจสอบเถื่อนที่เข้าตรวจสอบอาคาร
ให้ท่านร้องขอสำเนา "หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ" (ใบ รต.๑) ประเภทบุคคลธรรมดา ที่ออกให้โดย คณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ "หนังสือแจ้งผลการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 หมวดวิชา" ที่ออกให้โดย สภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก แล้วพิจารณาว่าบุคคลผู้ที่ไปเดินตรวจในอาคารของท่านในวันนั้นมีชื่อตรงกับเอกสารตามที่กล่าวมาหรือไม่ ท่านจะได้มั่นใจว่าบุคคลผู้นั้นได้ผ่านกระบวนการทดสอบความรู้ความสามารถตามกฏหมายแล้ว เพื่อประโยชน์ของ เจ้าของ/ผู้ครอบครองอาคาร นั่นเอง
สืบเนื่องจากในปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวอ้างตนว่าเป็นผู้ตรวจสอบอาคารมากมาย ที่ปฎิบัติงานในนามผู้ตรวจสอบประเภทนิติบุคคล โดยที่ยังไม่ผ่านการสอบวัดความรู้ จาก สภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิกแต่อย่างใด (บางคนก็เพียงแค่เข้ารับการอบรมเท่านั้น และที่หนักกว่านั้นบางรายที่ไปเดินตรวจยังไม่มีแม้กระทั่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ) หรือนิติบุคคลบางแห่งกรรมการผู้จัดการเองยังสอบวัดความรู้ไม่ผ่านกระทั่งปัจจุบันก็มีให้เห็นมาแล้ว
*มาตรา 55 ทวิ ผู้ตรวจสอบเถื่อนบางคนอาศัยช่องว่างของกฎหมายในมาตราดังกล่าวที่คลุมเครือไม่ชัดเจน (แถมยังไม่มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนอีกด้วย) โดยอ้างว่า เขา/เธอ ปฎิบัติหน้าที่ตรวจสอบอาคารได้เนื่องจากอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่มีใบอนุญาตผู้ตรวจสอบอาคาร ด้วยเหตุผลนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจท่าน เจ้าของ/ผู้ครอบครองอาคาร เองว่าจะเลือกแบบไหน.... อาคารของท่าน ทรัพย์สินของท่าน และที่สำคัญชีวิตของท่านเอง :)
หนังสือแจ้งผลการสอบวัดความรู้ ทั้ง 3 หมวดวิชา จาก สภาวิศวกร ของกรรมการบริษัทฯ ที่ใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร
หนังสือแจ้งผลการสอบวัดผลเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ของ คุณรณภพ สุนทรโรหิต
