ให้บริการงานวิศวกรรมควบคุม สาขาอุตสาหการ
งานให้คำปรึกษา งานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ งานอำนวยการใช้ ซึ่งเป็นงานวิศวกรรมควบคุม สาขาอุตสาหการ ตามกฏหมาย ดังต่อไปนี้
๑) ให้คำปรึกษา ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอุตสาหกรรม (Industrial Feasibility Studies) การจัดตั้งโรงงานที่ใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือโรงงานที่ลงทุนตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไปโดยไม่รวมค่าที่ดิน
๒) ออกแบบ/จัดทำ/รายการคำนวณ/ลงนามรับรอง แบบแปลนแผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณโรงงาน แบบแปลนแผนผังแสดงการติดตั้งเครื่องจักร (Machine Lay-Out) แบบแปลนอาคารโรงงาน รายการเครื่องจักรและการประเมินแรงม้า (Machine List) เพื่อ ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 (ใบ ร.ง. 4) ตั้งโรงงาน1 หรือแจ้งการประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.03/2) หรือขอใบอนุญาตขยายโรงงาน2 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน กับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด/กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) หรือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
1 ตั้งโรงงาน... ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต (ม.12) ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการฝ่าฝืนกฏหมายที่กำหนดไม่ให้ตั้งโรงงานในท้องที่ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ม.50)
2การขยายโรงงาน... ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตขยายโรงงาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต (ม.18) หมายถึง การเพิ่มจำนวนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรทำให้มีกำลังแรงม้ารวมเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือการเพิ่มหรือแก้ไขส่วนใดของอาคารที่ทำให้ฐานรากเดิมของอาคารโรงงานต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 500 กิโลกรัมขึ้นไป ถือว่าเป็นการขยายโรงงานตามกฏหมาย เจ้าของต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 7 วัน ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่โรงงานข้างต้นเป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ขยายไม่ให้ขยายในท้องที่ใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ม.52)
๓) ให้คำปรึกษา หรือเป็นผู้ตรวจสอบโรงงาน ประเมินความสอดคล้องของสภาพโรงงานอุตสาหกรรม ระบบต่างๆ วิศวกรรมความปลอดภัย สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และเครื่องจักรเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามตามบทบัญญัติของกฏหมายโรงงาน (พ.ร.บ.โรงงาน) พร้อมจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและแนวทางแก้ไข/ปรับปรุง
๔) การออกแบบและการวางผังโรงงาน (Plant Layout and Design) กระบวนการบริหารการผลิตของโรงงานใหม่ หรือ การปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง จากเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต
๕) การผลิต การสร้าง การติดตั้ง การประกอบสิ่งใดๆ ทั้งที่เป็นระบบหรือบางส่วน หรือกระบวนการผลิต หรือ เครื่องจักร ของโรงงานอุตสาหกรรม
๖) งานวิศวกรรมความปลอดภัย (Safety Engineering) การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) การออกแบบ Life Safety Design ตามมาตรฐาน NFPA 101 หรือ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานและการจัดทำแผนงานบริหารจัดการความเสี่ยง ตามกฎหมายโรงงาน
๗) งานระบบดับเพลิง ที่มีมูลค่ารวมตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีพื้นที่ป้องกันอัคคีภัยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป โดยเริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษา หาทางเลือกที่เหมาะสม ออกแบบและคำนวณ ควบคุมการติดตั้ง จนถึงการทดสอบสมรรถนะต่างๆในระบบดับเพลิง ของอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรม
๘) การจัดทำและฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานตามหลักวิศวกรรม การดูแลบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคาร เช่น ระบบดับเพลิงและเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ระบบควบคุมและกำจัดมลพิษ การป้องกันมลพิษ ระบบระบายอากาศ ระบบแสงสว่าง และระบบอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องของโรงงาน ฯลฯ ที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไปโดยไม่รวมค่าที่ดิน
(อ้างอิง : กฏกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ.๒๕๕๐, พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕)
หมายเหตุ ๑)มาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน บัญญัติว่า "ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือนิติบุคคลอื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นความผิดนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย"
๒) มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.๒๕๔๒ บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนพร้อมจะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาใด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาวิศวกร" ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๓) มาตรา ๗๔ บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ให้หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้ซึ่งมีส่วนในการกระทำความผิดดังกล่าว มีความผิดในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ และสำหรับนิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10 เท่า ของอัตราโทษปรับสำหรับความผิดนั้นด้วย
๔) งานในระบบดับเพลิง เช่น การให้คำปรึกษา ออกแบบ ควบคุมการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ หรือบำรุงรักษา เครื่องสูบน้ำดับเพลิงหรืออุปกรณ์ จัดเป็นงานวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมาย ดังนั้นต้องให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการและลงนามรับรอง

